ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ภายใต้องค์การการค้าโลก
(Agreement on Fisheries Subsidies)
ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง คือ การจัดทำกฎระเบียบเพื่อห้ามและควบคุมการอุดหนุนที่หน่วยงานภาครัฐของสมาชิก WTO ให้แก่ภาคประมง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความยั่งยืนของสัตว์น้ำทางทะเล
ความเป็นมา
องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำโลก และเห็นว่า การอุดหนุนจากภาครัฐของแต่ละประเทศที่ให้แก่ภาคประมงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำมากเกินจนทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอ ดังนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 4 (MC4) ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ซึ่งจัดขึ้นในปี 2544 จึงมีปฏิญญา (Declaration) ให้สมาชิก WTO ปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการอุดหนุนประมง ซึ่งกลายมาเป็นการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี การเจรจาได้หยุดชะงักไปในช่วงปี 2555 – 2558 เนื่องจากท่าทีของสมาชิก WTO ที่แตกต่างกัน สืบเนื่องมาจากระดับการพัฒนาและเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยสมาชิก WTO ได้กลับมาเริ่มเจรจาอีกครั้งเมื่อสหประชาชาติ (United Nations) ได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขึ้นในปี 2558 และ WTO ได้นำ SDG ข้อที่ 14.6 ที่ระบุเกี่ยวกับการห้ามและกำจัดการอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำมาเป็นเป้าหมายในการเจรจา
สถานะล่าสุด
- สมาชิก WTO สามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงได้แล้วในช่วงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 (MC12) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 17 มิถุนายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่ของ WTO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
- ปัจจุบันสมาชิก WTO อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการในประเทศเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ ทั้งนี้ WTO กำหนดว่า ความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อสมาชิก WTO จำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (ประมาณ 110 ราย) ได้ให้สัตยาบันพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก เพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงเพื่อจัดตั้งองค์การการค้าโลก (ปัจจุบันยังไม่มีสมาชิก WTO ใดให้สัตยาบันดังกล่าว)
สาระสำคัญของความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง
ความตกลงฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
- ห้ามสมาชิกให้การอุดหนุนแก่เรือประมงหรือผู้ประกอบการประมงหลังจากถูกตัดสินว่ามีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)
- ห้ามสมาชิกให้การอุดหนุนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงในกลุ่มสัตว์น้ำที่ถูกจับมากเกินควร (Overfished Stocks) ยกเว้นในกรณีที่สมาชิกมีการอุดหนุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ หรือมีการดำเนินมาตรการอื่นเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ก็จะสามารถให้การอุดหนุนประมงในกลุ่มที่เป็น Overfished Stocks ต่อไปได้
- ห้ามสมาชิกให้การอุดหนุนในพื้นที่ทะเลหลวงซึ่งไม่มีหน่วยงานใดควบคุมดูแล รวมทั้งการให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการอุดหนุนเรือประมงที่ไม่ได้ชักธงของรัฐที่ให้การอุดหนุน และการอุดหนุนในพื้นที่ที่ไม่ทราบสถานะของทรัพยากรสัตว์น้ำ
- นอกจากนี้ ความตกลงฯ มีการระบุบทบัญญัติอื่น ๆ อาทิ ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) โดยยกเว้นจากการห้ามอุดหนุนที่นำไปสู่ IUU Fishing และการอุดหนุนที่เกี่ยวข้องกับ Overfished Stocks เป็นระยะเวลา 2 ปี ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และกำหนดให้สมาชิกต้องแจ้งข้อมูล ได้แก่ ประเภทของกิจกรรมทางการประมงที่ได้รับการอุดหนุน รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม หากสามารถกระทำได้ เช่น มาตรการในการอนุรักษ์และบริหารจัดการสำหรับทรัพยากรสัตว์น้ำที่เกี่ยวข้อง และชื่อและหมายเลขของเรือประมงที่ได้รับประโยชน์จากการอุดหนุน
- ความตกลงฯ จะต้องสิ้นสุดโดยทันที หากสมาชิก WTO ไม่สามารถรับรอง (adopt) กฎระเบียบที่มีความครอบคลุมมากกว่าเดิม[1]ภายในสี่ปีหลังจากที่ความตกลงฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เว้นแต่คณะมนตรีใหญ่ (General Council) มีมติเป็นอย่างอื่น
การดำเนินการต่อไป
- การดำเนินการต่อไปของไทย: ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมให้สัตยาบันพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก เพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงเพื่อจัดตั้งองค์การการค้าโลก
- การดำเนินการต่อไปของสมาชิก WTO: สมาชิก WTO มีกำหนดที่จะต้องเจรจาต่อเพื่อจัดทำความตกลงฯ ที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 13 (MC13) ซึ่งในชั้นนี้มีกำหนดที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566
---------------------------------------------------------
[1] ความตกลงฯ ที่สมาชิก WTO สรุปผลได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 มีการตัดบทบัญญัติบางประเด็นที่สมาชิก WTO ยังมีความเห็นแตกต่างกันออก อาทิ การจัดทำกฎระเบียบเพื่อห้ามการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมง
ที่เกินศักยภาพและการทำประมงที่เกินขนาด (Overcapacity & Overfishing) และการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) ดังนั้น สมาชิก WTO จึงตกลงที่จะเจรจาต่อเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงที่มีความครอบคลุมมากขึ้น
-------------------------------
สำนักการค้าสินค้า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ตุลาคม 2565