Environmental Technology: เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
- เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Technology) หรือเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) หรือ เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เทคโนโลยีด้านการบำบัดมลพิษ การผลิตพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วกำลังผลักดันให้เป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ UNFCCC และ Kyoto Protocol รวมทั้งเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม และมีความเชื่อมโยงกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ WTO
- การหารือเรื่องพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้ UNFCCC และ Kyoto Protocol นั้น ในการประชุมครั้งล่าสุด ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ที่ประชุมสามารถตกลงให้มีการจัดตั้ง Technology Mechanism ซึ่งประกอบด้วย Technology Executive Committee (TEC) และClimate Technology Center and Network (CTC&N) โดยภาคีจะต้องเจรจา Priority Areas ด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ขอบเขตการทำงาน/ความสัมพันธ์ระหว่าง(TEC และ CTC&N) รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง Technology Mechanism และ Financial Mechanism[1] ภายใต้ UNFCCC/Kyoto Protocol
- ปัจจุบัน สมาชิกประเทศพัฒนาแล้วภายใต้ WTO พยายามผลักดันการเจรจาเปิดเสรีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อมตามข้อเสนอคำนิยามและรายการสินค้าและบริการของประเทศเหล่านี้ มักประกอบด้วยสินค้าและบริการทีมีเทคโนโลยีชั้นสูง[2]ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่น เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน) การถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงเกิดขึ้นจากการค้าสินค้าและบริการเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีราคาแพงและประสบปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยในขณะที่UNFCCC/Kyoto Protocol หารือเกี่ยวกับกลไกด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เวทีการค้าระหว่างประเทศ เช่น เอเปค อยู่ระหว่างการหารือเพื่อ identify อุปสรรคในการเข้าถึง/ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
- ในระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการค้าการลงทุนอย่างไม่เป็นทางการภายใต้กรอบการประชุมเอเซีย-ยุโรป (Informal Meeting of the Senior Officials for Trade and Investment - ASEM SOMTI) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายประเทศเห็นว่า การเปิดตลาดเพื่อให้มีการเข้าถึงสินค้าบริการและเทคโนโลยีสะอาดจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเรื่องโลกร้อน โดยฟิลิปปินส์ (รวมทั้งอินเดีย) เห็นว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของเทคโนโลยีสะอาดควรคำนึงถึงทั้งความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิและการกระจายเทคโนโลยีเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยฝ่ายสหภาพยุโรปกล่าวว่า เรื่องกฎระเบียบเป็นอีกแง่หนึ่งที่ควรให้ความสำคัญเพราะบางครั้งมีการเปิดตลาดแต่ติดกฎเกณฑ์ภายในประเทศทำให้ไม่มีการกระจายสินค้าบริการและเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างทั่วถึง
- ในส่วนของความร่วมมือทางเทคโนโลยีนั้น ฝ่ายสหภาพยุโรปนำเสนอแนวทางการทำความตกลงกับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science & Technology: S&T) รวมทั้งลดอุปสรรคสำคัญที่เคยประสบในการทำความร่วมมือดังกล่าวกับประเทศกำลังพัฒนา คือ ๑) การไม่ทราบความต้องการด้าน S&T และขาดการจัดลำดับความสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา ๒) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและผลงานวิจัยที่แตกต่างกัน ๓) การกำหนดมาตรฐานที่ช้า ๔) การออกวีซ่าที่เข้มงวดสำหรับบุคคลากรด้าน S&T ๕) อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ทั้งสองภูมิภาคควรร่วมมือกันมากขึ้นด้าน S&T เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และควรให้องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น ADB เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย
- ปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีหลายรูปแบบ เช่น การดักจับและกักเก็บ CO2 หรือที่เรียกว่า Carbon Capture and Storage (CCS คือการเอา CO2 ที่ปล่อยออกจากระบบใดๆ ก็ตามมาเก็บไว้ในที่หนึ่ง โดยไม่ปล่อยให้มันออกสู่บรรยากาศ โดยการทำให้ CO2 มีความเข้มข้นสูงและอยู่ในรูปแบบของเหลว แล้วนำอัดกลับเข้าไปในชั้นหินใต้ดินบริเวณที่เดิมมีน้ำมัน) และเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศพัฒนาแล้วเช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย เป็นต้น ให้การสนับสนุนและอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวประกอบด้วยกระบวนการ capture, transfer, inject และ monitor อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี CCS มีราคาแพงมากและต้องพัฒนาให้มีประสิทธภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศซาอุดิอาเรเบียได้ยื่นข้อเสนอให้ CCS (เช่น พิกัด 271121 Natural Gas, พิกัด 730711 Tube or Pipe Fittings, Of nonmalleable cast iron) เป็นรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมภายใต้ WTO
- ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) อยู่ระหว่างศึกษาเรื่อง “การประเมินความต้องการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของประเทศไทย” (Technology Need Assessment) โดยใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก คาดว่าจะได้ผลสรุปในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการสนับสนุนของ GEF และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค (หากมี)
------------------------------------------------
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
สำนักยุทธศาสตร์การเจรจาการค้า
กรกฎาคม 2554
[1] ปัจจุบัน Financial Mechanism ภายใต้ UNFCCC/Kyoto Protocol ประกอบด้วย กองทุน GCF (Green Climate Fund) และ Global Environmental Facility (GEF)
[2] เทคโนโลยีมี 2 ลักษณะคือ
- เทคโนโลยีในลักษณะของกระบวนการผลิต ( process): การใช้ระบบของวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือ ความรู้ต่างๆ ที่มีผลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
- เทคโนโลยีในลักษณะของผลผลิต (product): วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นผลมาจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี
ดังนั้น การนำเข้าเพียงเทคโนโลยีในลักษณะของผลผลิต (product) จะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติม และยังมีราคาแพง